แอ่งแถะ
“แอ่งแถะ” เป็นอาหารของชาวไทลื้อ ทำมาจากใบพืชชนิดหนึ่ง เป็นพืชล้มลุกมีลำต้นเป็นเถาเป็นเครือ หัวอยู่ใต้ดิน ใบมีรูปร่างคล้ายใบโพธิ์ ใต้ใบมีขนอ่อนๆ จะเจริญเติบโตในฤดูฝน ถึงต้นฤดูหนาว แอ่งแถะ เป็นพืชสมุนไพรแก้ร้อนในกระหายน้ำ เป็นยาระบายได้ดีแอ่งแถะนำมาเป็นอาหารโดยการนำส่วนใบมาตำผสมมน้ำเล็กน้อยแล้วคั้นกรองเอากากทิ้ง นำมาใส่ภาชนะทิ้งไว้หนึ่งคืนก็จะจับตัวกันเป็นก้อนคล้ายเยลลี่เมื่อจะ รับประทานก็นำมาปรุงใส่พริกป่น เกลือป่น ปลาแห้งป่น ถั่วลิสงป่น ปรุงให้มีรสเปรี้ยวด้วยน้ำมะนาว หรือรมะกอกสุก แอ่งแถะเป็นอาหารดั้งเดิมของชาวไทลื้อ รับประทานเป็นกับข้าว หรือเป็นอาหารว่างก็ได้
น้ำปู
น้ำปู หรือน้ำปู๋ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นการถนอมอาหารที่เก็บไว้กินได้นาน ทำมาจากปูนา มีลักษณะเป็นครีมข้น ๆ เหนียวๆ สีดำคล้ำ นำมาปรุงเป็นอาหาร โดยการปิ้งพริกหนุ่ม โขลกรวมกับกระเทียม และตะไคร้ แล้วนำน้ำปูลงคลุกเคล้า เรียกว่า “น้ำพริกน้ำปู” ใช้จิ้มหน่อไม้หรือผักต่าง ๆ และยังนำมาใส่เพิ่มรสชาติให้กับอาหารประเภทต่างๆ ได้ เช่นใช้ปรุงแกงหน่อไม้ ยำหน่อไม้ ส้ามะเขือ ตำเตา ตำมะม่วง ตำส้มโอ ตำมะขาม น้ำปูเป็นอาหารเอกลักษณ์เฉพาะของชาวไทลื้อ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถถนอมอาหาร เก็บไว้รับประทานได้นานนับปี โดยไม่ใช้สารกันบูด
โถ่โอ่
คำว่า โถ่ ภาษาไทลื้อหมายถึง ถั่ว และคำว่า โอ่ หมายถึง “เหม็นหรือเน่า” สรุปแล้วโถ่โอ่ ก็คือ ถั่วเน่าหรือถั่วเหม็น แต่จริงแล้วเมื่อนำมาปรุงอาหารจะหอมอร่อย โถ่โอ่หรือถั่วเน่า ทำมาจากถั่วเหลืองต้มสุก แล้วนำไปหมักในภาชนะที่สานด้วยไม้ไผ่ที่รองก้นภาชนะหรือห่อด้วยใบของต้นเดื่อปล่อง ปิดให้มิดแล้วทิ้งไว้ประมาณ ๒ – ๓วัน จนถั่วมีกลิ่นหรือราสีเขียวจับบริเวณรอบๆ ภาชนะ จึงนำมาทำเป็นอาหาร เช่น เกียวโถ่โอ่ คือนำมาบดใส่เครื่องปรุง เช่น พริกแห้งกระเทียม ขิง เกลือ แล้วนำมาผัดให้หอม ใส่ไข่ลงไป สุกแล้วรับประทานกับข้าวร้อนๆ จะอร่อยมาก
นอกจากนี้ยังมีโถ่โอ่ที่ทำเป็นแผ่นตากแห้งอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นการถนอมอาหารไว้กินนานๆ มีวิธีการทำคือนำถั่วเน่าที่หมักได้ที่แล้วมาบดให้ละเอียด แล้วโขลกพริกแห้ง กระเทียม ขิง และเกลือ มาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน กับถั่วเน่าบด จากนั้นนำมาทำให้เป็นแผ่นแบนๆ ให้ตรงกลางหนากว่าเล็กน้อยมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ –๒ นิ้ว แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง เก็บไว้รับประทานได้นาน เมื่อจะรับประทานก็นำมาทอดหรือปิ้งให้กรอบ
น้ำผัก
น้ำผัก เป็นอาหารของชาวไทลื้อ ทำมาจากดอกผักกาดจ้อน ตัดในขณะที่ต้นผักกาดออกดอกและกำลังบาน จะได้ดอกผักกาดที่ดี แล้วนำไปบดให้ละเอียดนำมาหมักทั้งกากผสมน้ำ เกลือ และข้าวเหนียวเล็กน้อย ทิ้งไว้ประมาณ 2 – 3 คืน จนได้รสเปรี้ยว จากนั้นกรองเอากากทิ้ง นำส่วนที่เหลือไปเคี่ยวจนแห้ง จะได้ “น้ำผัก” มีสีเขียวคล้ำ มีรสเปรี้ยว หากนำไปตากให้แห้งจะเก็บไว้ได้นาน เมื่อต้องการรับประทานก็นำมาทำเป็นน้ำพริกน้ำผัก
ส้มผักกาด
ส้มผักกาด เป็นอาหารที่นิยมอย่างหนึ่งของชาวไทลื้อ ซึ่งเป็นการแปรรูปอาหารโดยการนำผักกาด นำมานวดกับเกลือจนได้ที่ ใส่ข้าวเหนียวเล็กน้อยหมักทิ้งไว้ประมาณ หนึ่งถึงสองคืน จนมีรสเปรี้ยว “ส้มผักกาด” สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลากหลายวิธี เช่น รับประทานเป็นเครื่องเคียงกับน้ำพริกก็อร่อย หรือโขลกพริกหนุ่มปิ้ง กระเทียม แล้วนำไปผสมกับส้มผักกาด โดยทุบขิงใส่ลงไปเล็กน้อย และซอยมะเขือเป็นแผ่นบางๆ ใส่ลงไปด้วย ก็จะได้กับข้าวอีกอย่างหนึ่ง ชาวไทลื้อเรียกว่า “แยมซุ้มผักกาด” รับประทานกับปลาปิ้ง หมูปิ้ง แคบหมู หรือเนื้อสัตว์อื่นๆ ก็เข้ากันได้ดี
ขนมปาด
ขนมปาด มีลักษณะคล้ายกับขนมเปียกปูน แต่สีน้ำตาล รสหวานมัน มีกลิ่นหอม ชาวไทลื้อนนิยมรับประทานกับข้าวแคบ ขนมปาดทำจากแป้งข้าวเหนียวนำมากวนกับน้ำตาลผสมน้ำอ้อย และกะทิ ส่วนใหญ่นิยมทำขนมปาดในงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานบวช งานฉลองต่างๆ จึงต้องกวนกันเป็นหม้อใหญ่ๆ โดยต้องใช้คนช่วยกันกวนหลายคน จนกว่าแป้งจะเหนียวได้ที่นำมาเทใส่ถาด ทิ้งไว้ให้แข็งตัว แล้วตัดเป็นชิ้นๆ รูปขนมเปียกปูน
ข้าวแคบ
“ข้าวแคบ” เป็นขนมหรืออาหารว่างของชาวไทลื้อ มีลักษณะคล้ายข้าวเกรียบ มีรสเค็มๆ อย่าง ข้าวเกรียบกุ้ง “ข้าวแคบ” เป็นภาษาท้องถิ่นภาคเหนือที่เข้าใจกันดี แต่คนท้องถิ่นอื่นอาจไม่คุ้นเคย “ข้าวแคบ” คือ ข้าวเกรียบธรรมดา เป็นของกินชนิดหนึ่งที่ทำจากแป้งข้าวจ้าว หรือแป้งข้าวเหนียว ทำเป็นแผ่นตากให้แห้ง เมื่อจะรับประทานก็นำมาย่างไฟอ่อนๆ หรือทอดเหมือนข้าวเกรียบก็จะได้ข้าวแคบที่มีรสชาติที่แตกต่างกันออกไป ชาวไทลื้อนิยมรับประทาน ข้าวแคบทอดกับขนมปาด
ข้าวควบ
“ข้าวควบ” คือ “ข้าวเกรียบใส่น้ำตาลอ้อย มีรสหวานอย่างข้าวเกรียบว่าว” ข้าวควบได้มาจากการนำข้าวเหนียวที่สุกแล้วตำให้เมล็ดข้าวแตกละเอียด ผสมกับน้ำอ้อย หรือน้ำตาล ใส่เกลือเล็กน้อย นวดให้เข้ากันแลแล้วปั้นเป็นก้อนประมาณเท่ามะนาว แล้วใช้ไม้กลมคลึงให้เป็นแผ่นบางๆ แล้วตากให้แห้ง เมื่อจะรับประทานก็นำมาผิงไฟอ่อนๆ ให้ข้าวควบพองตัวเป็นแผ่นใหญ่มีสีเหลืองน่ารับประทาน “ข้าวควบ” เป็นอาหารว่างที่ ชาวไทลื้อนิยมรับประทานกันมาก ลักษณะคล้ายขนมทองม้วน รสหวานกรอบ แต่พอง และแผ่นใหญ่กว่า
ที่มา:https://chiangkhamdistrict.wordpress.com/2013/10/16/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B9%89/